ตำนานความเป็นมาของตำบลท่าข้าม
จากที่เคยได้ยินคำบอกเล่าจากคนเฒ่าคนแก่ถึงที่มาของคำว่า "ท่าข้าม" ซึ่งเป็นชื่อของตำบลก็ได้รับคำบอกเล่ามาว่า แต่ก่อนชื่อเดิม คือ "ท่านางข้าม" ซึ่งมีเรื่องเล่าถึงท่านางข้าม อยู่ว่า เมื่อก่อนที่ภูเขาหลง (ปัจจุบันตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่ 5 บ้านหนองบัว ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ของตำบลทุ่งหวัง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา) และที่เขาหลงนั้นได้มีถ้ำอยู่ถ้ำหนึ่ง ในถ้ำแห่งนั้นได้มีนางผู้ศักดิ์สิทธิ์อาศัยอยู่ ภายในถ้ำมีข้าวของเครื่องใช้มากมาย โดยเฉพาะของใช้ที่ใช้สำหรับงานจัดเลี้ยงต่าง ๆ (ถ้วย ชาม ช้อน ฯลฯ) ชาวบ้านที่อยู่ในละแวกนั้น เมื่อมีการจัดเลี้ยงงานบุญขึ้นที่บ้าน ก็จะไปปากถ้ำ โดยนำดอกไม้ ธูป เทียนเพื่อบูชา นั่งลงพนมมือแล้วอธิษฐานขอยืมเครื่องใช้ต่าง ๆ จากนางผู้ศักดิ์สิทธิ์ เมื่อพูดจบข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่ต้องการปรากฎอยู่ตรงหน้า เมื่อมีการจัดงานเสร็จสิ้น ชาวบ้านก็จะนำเครื่องใช้เหล่านั้นไปคืนที่ปากถ้ำ นานวันเข้าชาวบ้านที่ยืมของไปใช้แล้วไม่นำส่งคืน หลายครั้งเข้านางนั้นเกิดความเสียใจ โกรธเคืองเลยได้ปิดปากถ้ำและได้เหาะหนีไปอยู่ที่อื่นโดยได้เหาะผ่านไปทางท่าข้าม ชาวบ้านจึงเรียกว่า "ท่านางข้าม" ต่อมาได้ตัดคำว่านางออกไป เหลือแต่"ท่าข้าม" จนถึงปัจจุบัน เมื่อก่อนตั้งเป็นตำบลท่าข้าม มีแค่ 5 หมู่บ้านเท่านั้น คือบ้านแม่เตย บ้านท่าข้าม บ้านหินเกลี้ยง บ้านเขากลอยและบ้านหนองบัว ส่วนบ้านคลองจิกและบ้านปีก (เกาะปลัก) นั้น เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ภายหลัง บ้านเขากลอยเพิ่งแยกออกเป็น 2 หมู่บ้าน คือ เขากลอยออกและเขากลอยตก
ประวัติของตำบลท่าข้าม
เมื่อมีการเลือกตั้งเป็นตำบล ก็มีการเลือกกำนัน จากคำบอกเล่าของผู้รู้มีกำนันที่ได้รับเลือกตั้ง ตามลำดับดังนี้
1. ขุนวิจารณ์ ธารารักษ์
2. กำนันสอน อุไรรัตน์ บ้านหินเกลี้ยง
3. กำนันแสง อุไรรัตน์ บ้านท่าข้าม
4. กำนันทองเสน ผ่องแผ้ว บ้านท่าข้าม
5. กำนันปาน ไชยกูล บ้านแม่เตย
6. กำนันพิโลม สุวรรณลักษณ์ บ้านท่าข้าม
7. กำนันชลอ สุวรรณลักษณ์ บ้านท่าข้าม
8. กำนันสมศักดิ์ เทพกูล บ้านเขากลอยตก จากคำสันนิษฐานของผู้เฒ่าอีกท่านหนึ่งบอกว่าคนแรกน่าจะเป็นกำนันแสงมากกว่าซึ่งเป็นคนท่าข้าม เขาจึงได้ตั้งชื่อตำบลตามชื่อหมู่บ้านที่กำนันคนแรกอาศัยอยู่
9. นายอุทัย สุขสว่างผล กำนันตำบลท่าข้าม (คนปัจจุบัน)